องค์กรของท่านกำลังเผชิญกับปัญหาบุคลากรแบบนี้ไหม? “รับพนักงานใหม่เข้ามาเท่าไรไม่รู้จักเต็ม พนักงานใหม่เข้ามายังไม่ทันครบตามใบขออัตรากำลังคน พนักงานเก่าที่มีอยู่ก็ออกอีกแล้ว หรือบางคนที่มีอยู่ก็ไม่มีขวัญกำลังใจหยุดงานบ่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือไม่ก็มาทำงานในสภาพ เหม่อลอย ประสิทธิภาพในการทำงานตกต่ำ ฝึกอบรมพัฒนาไม่ขึ้น นายจ้างต้องทนจ้างไม่รู้ว่าเมื่อไรจะออกๆไปให้พ้นๆหน้าเสียที” ทำไมปัญหาเหล่านั้นจึงเกิดขึ้น และที่พนักงานเหล่านั้นต้องพ้นสภาพไปจากองค์กรมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากอะไรกันแน่? บางท่านที่มีประสบการณ์อยู่บนถนนสายอาชึพของ HR มายาวนานฟันธงทันทีเลยครับ (เหมือนหมอดูชื่อดังของเมืองไทย) ว่าเหตุผลที่ทรัพยากรบุคคลเหล่านั้นก้าวเท้าออกไปจากองค์กร ล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่พึงพอใจในการทำงานกันทั้งนั้น ดังคำโบราณที่ว่า “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” อาทิเช่น ไม่พอใจค่าจ้างและผลประโยชน์ตอบแทน (ค่าจ้างที่ได้รับมันช่างน้อยเกินไปสำหรับความสามารถที่พนักงานมีอยู่ แต่...ไม่ได้นำออกมาใช้งาน) ไม่พอใจสวัสดิการที่มีอยู่ บ้างก็บอกว่าไม่พอใจหัวหน้างาน (ที่ดันฉลาดน้อยกว่าลูกน้องอยากเรา แหม! ถ้าฉลาดเท่าก็เป็นลูกน้องมืออาชีพแล้วสินะ) สารพัดความไม่พึงพอใจอีกหลายประการแล้วแต่จะยกมากล่าวอ้าง เพราะจะได้ไปพ้นๆหน้าฝ่ายบุคคลสักที ชอบถามโน้นถามนี่ แต่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นสักที (นี่ไม่ใช่ความคิดอ่านของผมนะครับ เพราะผมก็สายเลือด HR เหมือนกัน แต่พนักงานที่เขาจะไปจากองค์กรแล้ว เขาคิดในใจเสียงดังๆ เผื่อบางที HR จะได้ยินและฟังเสียงเขาบ้าง แหม! แต่บางเรื่องมันก็เกินอำนาจหน้าที่ HR อย่างเรานะ) มาถึงตอนนี้แล้วปัญหา Turn Over อาจจะมีเหตุผลลึกๆที่เราไม่รู้ เหมือน “ภูเขาน้ำแข็งส่วนที่จมอยู่ใต้ผิวน้ำ”ที่เราชาว HR ทั้งหลายพยายามค้นหาสาเหตุใช้ทั้งหลักวิชาการและประสบการณ์ที่เชี่ยวชาญกลั่นกรองออกมาเป็นเครื่องมือที่ภาคภูมิใจบนกระดาษ แล้วเรียกมันว่า “Exit Interview” แล้วผลที่ปรากฏออกมาก็ยังวกไปวนมาในอ่างเหมือนเดิม แก้รากเหง้าของปัญหาไม่ได้สักที ทั้งๆที่ขนานนามตัวเองว่า “HR มืออาชีพ” คราวนี้ลองมามองต่างมุมดูบ้าง แล้วลงมือทำอะไรนอกกรอบความคิดเดิมๆ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่า “คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลก็ออกมาเหมือนเดิม” เราลองมาพัฒนาคุณภาพชีวิตในการทำงานของพนักงานMS-QWL 1:2004 ภาคปฏิบัติ ที่มุ่งเน้นสุขภาวะทางกาย อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ โดยการสำรวจหาข้อมูลสภาวะความเครียดที่มีของพนักงานทั้งองค์กร เราอาจจะพบสาเหตุที่แท้จริงในการลาออก หรือการหายไปเฉยๆของพนักงานในองค์กรของท่าน หลังจากที่ผลสำรวจสาเหตุแห่งความเครียดของพนักงานออกมาแล้ว ท่านอาจจะตกตะลึงอ้างปากค้างเลยกับข้อมูลที่ได้ หากสาเหตุแห่งความเครียดของพนักงานในองค์กรส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของพนักงาน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เป็นหนี้” ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่พนักงานเหล่านั้นพ้นสภาพไปจากองค์กรของท่าน หรือมาทำงานในสภาพ dead wood คุณธนุเดช ธานี เคยร่วมสำรวจข้อมูลสถานประกอบการแห่งหนึ่ง ปรากฏผลออกมาว่าพนักงานให้ข้อมูลว่าเป็นหนี้ถึงร้อยละ ๕๙ ของจำนวนพนักงานทั้งองค์กร ซึ่งเป็นตัวเลขเดียวกันกับที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเคยสำรวจไว้เมื่อประมาณปี ๒๕๔๘ ว่าลูกจ้างในสถานประกอบการต่างๆทั่วประเทศเป็นหนี้สินร้อยละ ๕๙ ของจำนวนลูกจ้างทั้งประเทศ และร้อยละ ๗ ของลูกจ้างเหล่านั้นไม่รู้วิธีการแก้ปัญหาชีวิตและหนี้สินเหล่านั้น จึงหาทางออกด้วยการคิดสั้น “ฆ่าตัวตาย” แต่ปัญหานั้นก็ไม่ได้หมดไป หนูน้อยตาดำๆที่กำลังจะเติบใหญ่ เพื่อเป็นเยาวชนและกำลังของประเทศชาติในวันหน้า กำลังประสบปัญหามรสุมครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต แม่บ้านบางคนจำทนเห็นลูกๆหิวโหยและลำบากต่อไปไม่ไหว ต้องเบนเข็มชีวิตแอบแต่งเนื้อแต่งตัวไปทำงานกลางคืน เพื่อไปหาเงินมาประทังชีวิตลูกน้อยและครอบครัว ชีวิตลูกจ้างหรือมนุษย์เงินเดือนเมื่อมีรายได้มักจะติด “กับดักทางเงิน” ของธนาคาร และนอน-แบงก์ ด้วยโปรโมชั่นของบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล บางรายอยากทำไว้โก้ๆ แต่...ความไม่แน่นอนของชีวิตก็ก้าวเข้ามาเยือน เมื่อครอบครัวหรือบุคคลอันเป็นที่รักต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ลูกต้องเปิดเทอม บ้านต้องซ่อมแซม รถก็ต้องดูแล ลงทุนค้าขายแล้วทุนหายกำไรหด หรือสร้างหนี้ด้วยความฟุ้งเฟ้อ เพราะอยากได้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ โทรทัศน์เครื่องเก่าพลังเสียงไม่สมจริง เครื่องเสียงรุ่นใหม่เสียงมันนุ่มนวลชวนฟัง คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่ก็ตกรุ่น สารพัดความจำเป็นที่ต้องใช้บัตรเครดิตหรือวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อครบรอบการชำระเงินหากหาเงินมาชำระหนี้ไม่ได้หนทางหนึ่งก็ต้อง “หมุนเงิน” ด้วยการกดเงินสดจากบัตรเครดิตหรือบัตรวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลออกมาใช้หนี้ ใช้ไปใช้มาหนี้เก่าก็ไม่หมด หนี้ใหม่ก็ไม่ลดหนี้สินพอกหางหมูขึ้นไปเรื่อยๆ (ไอ้ครั้นจะไปเอ่ยปากหยิบยืมเงินใครเขาก็กลัวเสียหน้า หรือไม่ก็แค่เดินผ่านคนรู้จักก็วิ่งหนีป่าราบแล้ว เพราะกลัวถูกยืมเงิน พอจะไปปรึกษาฝ่ายบุคคล ฝ่ายบุคคลก็กลัวถูกยืม แถมฝ่ายบุคคลเองบางทียังไปยืมเงินพนักงานใน Line ผลิตเลย โอ๊ย! จะทำอย่างไรดี? สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยที...ขอให้ลูกช้างถูกหวยรวยโปซักงวด เพื่อมาล้างหนี้ ขนาดแขวน...รุ่นอภิมหาเศรษฐีโคตรรวยแล้ว หนี้ยังไม่ลดลงเลย) และแล้ววันแห่งความมืดมน...ทางตันของชีวิตมนุษย์เงินเดือนก็มาถึง หลายคนความสุขในชีวิตขาดหายไป ซึมเศร้า ท้อแท้กับชีวิต อารมณ์เสียบ่อย ไม่พูดคุยกับลูกและคนในครอบครัว หันไปดื่มเหล้า (จน เครียด ดื่มเหล้า เข้าสูตรชีวิตหายนะ) บางรายครอบครัวมีปัญหาหนักมากถึงขั้นทะเลาะลงไม้ลงมือทุบตีกันต่อหน้าลูกน้อยที่กำลังร้องไห้ เพราะพ่อและแม่ตบตีกัน เสียงตะโกนด่าทอมีขึ้นทุกๆวัน เพราะเงินไม่พอใช้ ความรักความอบอุ่นที่มีให้เริ่มหดหาย และจบลงที่ทางใครทางมัน (ก็ใครมันอยากจะไปรับผิดชอบร่วมชดใช้หนี้ละ บางรายหลักหมื่น หลายรายหลักแสน และมีไม่น้อยหลักล้าน) ที่หนักไปกว่านั้นบางรายหันไปฉกชิงวิ่งราว ลักเล็กขโมยน้อย ขายยาบ้า แม้กระทั่งจบชีวิตตัวเองและครอบครัวเพียงเพราะเงินไม่กี่หมื่นบาท เงินไม่กี่หมื่นบาทมันมีค่ามากกว่าชีวิตคนๆหนึ่งเลยหรือ? หากเราต้องตกอยู่ในสภาพเลวร้ายเช่นว่านั้นบ้างล่ะ เราจะแก้ไขปัญหาชีวิตได้อย่างไร? หรือเราอาจจะโชคดีไม่ตกอยู่ในบ่วงหนี้ แต่ถ้าพนักงานส่วนใหญ่ในองค์กรของท่านต้องเป็นหนี้ ผลงานถดถอย เหม่อลอย ประสบอุบัติเหตุในการทำงานถึงขั้นสูญเสียอวัยวะ มาทำงานสายหรือหยุดงานบ่อย นี่ขนาดยังไม่ต้องพ้นสภาพการเป็นพนักงานนะ HR หัวหน้างาน หรือเจ้าของกิจการจะมีส่วนในการชี้ทางสว่างแห่งชีวิตเขาได้อย่างไร? เพื่อให้เขาเหล่านั้นกลับมาเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพ มี Competency ที่เหมาะสมกับงานในปัจจุบัน และก้าวเติบโตไปกับองค์กรได้ เพื่อให้พนักงานเหล่านั้นใช้ความรู้ความสามารถ และความชำนาญที่มีอยู่มาพัฒนาองค์กรของท่านให้สามารถแข่งขันได้ในยุดการแข่งขันเสรีไร้พรมแดน มาถึงจุดนี้ HR มืออาชีพต้องทำงานหนัก ทั้งด้านแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก ควบคู่กับงานด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร โดยการจัดอบรมสัมมนาให้ความรู้แก่พนักงานกลุ่มเป้าหมายเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในการทำงาน การออมทรัพย์ การทำบัญชีครัวเรือน การแก้ปัญหาหนี้ กฎหมายที่เกี่ยวกับหนี้ หรือท่านอาจจะไปหาซื้อหนังสือมาสักเล่มสองเล่ม หนังสือที่น่าหาซื้อมาเก็บไว้ใช้งานก็มี “เป็นหนี้แก้ไขปัญหาชีวิตอย่างไร” และ “ยิ้มสู้หนี้” ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค www.consumerthai.org แต่ต้องระมัดระวังในเรื่องการนำเสนอแนวคิดกับเจ้าของกิจการให้เจ้านายเข้าใจว่า “เรื่องหนี้สินเป็นเรื่องทางแพ่งเป็นเรื่องส่วนตัวที่ยอมความได้ เพราะเจ้าหนี้ต้องการให้ลูกหนี้ชดใช้หนี้ ไม่ใช่ความผิดทางอาญาไม่ถึงขั้นต้องติดคุกติดตาราง” และ HR ต้องดูแลพนักงานให้ดีอย่าปล่อยให้เรื่องหนี้สินส่วนตัวของพนักงานบานปลายถึงขั้น กลายเป็นเรื่องทุจริตลักทรัพย์ ยักยอกทรัพย์ขององค์กร หรือของบุคคลอื่น ซึ่งเราพอมีทางเยียวยาได้ครับ อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดแล้วค่อยไปแก้ทีหลัง อาจไม่ทันการณ์ครับ นอกจากนี้เราก็สามารถเข้าไปช่วยแก้ไขไม่ให้ปัญหาชีวิตพนักงานของเราบานปลาย โดยจัดห้องสักห้องหนึ่งเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาช่วงหลังเลิกงาน (พนักงานจะได้ไม่อายใคร) เพื่อให้พนักงานที่มีปัญหาเข้ามาปรึกษาหารือกับ HR แบบตัวต่อตัว เราจะได้ไปนั่งในกลางใจเขาไงครับ ได้บุญมากนะช่วยชีวิตคน ซึ่งทั้ง ๒ งานเป็นหน้าที่โดยตรงของ HR อยู่แล้ว โดยมีแนวทางปฏิบัติ ดังนี้ ๑) ให้คำแนะนำปรึกษาให้พนักงานของท่านยอมรับความเป็นจริงแห่งชีวิต และกล้าเปิดอกพูดคุยกับบุคคลอันเป็นที่รักของเขาในครอบครัวทั้งพ่อแม่ พี่น้อง สามีภรรยา รวมทั้งลูกๆ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ของเขาและครอบครัวในปัจจุบัน และมีหนทางแก้ไขปัญหานี้ได้ถ้าทุกคนในครอบครัวร่วมแรงร่วมใจช่วยกัน ตรงจุดนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดในการเริ่มชีวิตใหม่ เพื่อเขาจะได้ไม่หาทางออกผิดๆในชีวิตเขา และคืนคนดีสู่สังคม โดยเอาธรรมะเข้าช่วยหล่อหลอมจิตใจให้มีสติ ๒) ยึดหลักคำสอนขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการดำรงชีพตนเองและครอบครัวตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ๓ ห่วง ๒ เงื่อนไข (ห่วงที่ ๑ พอประมาณ ห่วงที่ ๒ มีเหตุผล ห่วงที่ ๓ ภูมิคุ้มกัน และเงื่อนไขที่ ๑ ความรู้ เงื่อนไขที่ ๒ คุณธรรม) ต้องทำบัญชีครัวเรือน และไม่ใช้เกินที่มี ไม่นำเงินในอนาคตหรือเงินพลาสติกมาใช้ บัตรเครดิต บัตรวงเงินสินเชื่อส่วนบุคคลยกเลิกให้หมด ต้องประหยัดเอาชนะใจตนเอง ถ้าไม่มีอย่าไปใช้มัน เดือนเดียวก็ปรับสภาพได้แล้ว ๓) แก้ไขหนี้ด้วยตัวเราเอง (ลูกหนี้) ด้วยการหาเงินมาชำระหนี้ เรา “ต้อง” หาอาชีพเสริมในทางสุจริต ถูกกำหมาย และศีลธรรม เพื่อเพิ่มรายรับและแบ่งชำระหนี้ส่วนหนึ่ง บางรายเดินทางผิดมาเยอะแล้ว กรณีไปหยิบยืมมาใช้หนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเงินต้นและดอกลดลงหรือไม่ และระวังอย่าไปยืมหนี้นอกระบบมาใช้นะครับ มันอันตรายมากบางรายเอาตัวเองไปขัดดอก บางรายถูกทวงหนี้ด้วยชีวิต ตามที่เราได้เห็นได้ยินข่าวทางโทรทัศน์ หรือตามหน้าหนังสือพิมพ์ ๔) หนทางสุดท้าย ถ้าเลือดเรากำลังไหลไม่หยุดเราต้องห้ามเลือดก่อน ดอกเบี้ยคือเลือดถ้าเราหมุนเงินออกมาใช้เรื่อยๆ ดอกเบี้ยก็ไม่หยุด ให้หยุดชำระหนี้แล้วรอขึ้นศาล (มันจะบ้าเหรอแนะนำให้เบี้ยวหนี้ เท่ากับโกงชัดๆ ไม่ได้แนะนำให้ให้ใครเบี้ยวหนี้นะ เป็นหนี้แล้ว ก็ต้องทำใจยอมรับยังไงก็ต้องหาเงินมาคืนเขา เวรกรรมมันมีจริงกรรมมันตามทันกันหมดไม่ต้องรอชาติหน้าหรอก แต่สอนให้เรารู้จักหลักการใช้ชีวิตภาคปฏิบัติ ในการปลดเปลื้องภาระหนี้ที่ท่าน หรือพนักงานในองค์กรของท่านกำลังประสบปัญหาอยู่จนมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ฝ่ายบุคคลต้องเข้าไปช่วยแก้ ซึ่งมีหลายคนที่แนะนำแล้วเขาเดินตามแนวทางนี้แล้ว มันได้ผลสามารถปลดแอกหนี้สินได้ แต่ถ้าท่านไม่ทำตามแนวทางนี้ก็ก้มหน้าชดใช้หนี้ต่อไป บางรายใช้หนี้มา ๑๐-๒๐ ปีแล้วหนี้ยังไม่หมดเลย เพราะมันมีดอกเบี้ยแอบแฝงที่ไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่) วิธีการนี้เป็นการพึ่งความเป็นธรรมและความเมตตาจากศาล เมื่อเราหยุดชำระหนี้ก็จะเป็นการยืดเวลากว่าที่ศาลจะพิจารณาคดีก็ประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี เราก็มีเงินใช้จ่ายในครอบครัว พาลูกๆไปเติมเต็มชีวิตด้วยการพักผ่อนตามอัตภาพบ้าง หาซื้อเสื้อผ้าหรือของใช้ที่จำเป็นในบ้านบ้าง ชีวิตครอบครัว ความสุข และความอบอุ่นในครอบครัวก็หวนกลับคืนมาอีกครั้ง “ท่านต้องเลือกเอาเองระหว่างทางสองแพ่ง ทางหนึ่งคือเป็นคนดีของแบงก์ หรือทางที่สองเป็นคนดีของครอบครัว” กว่าจะถึงตอนนั้นท่านก็จะมีเวลาเก็บเงินมาชำระหนี้ได้ทีหลายราย บางคนเป็นหนี้แบงก์ ๔๘,๐๐๐ บาท ลูกหนี้เจรจาต่อรองแล้วแบงก์ลดให้จ่าย ๒๒,๐๐๐ บาทแล้วจบหนี้ก็มี วิธีการนี้เขาเรียกว่า“แฮร์คัต” ทำได้ทั้งก่อนขึ้น ขณะขึ้นศาล และหลังศาลตัดสิน แบงก์ไหนลดให้มากก็จ่ายแบงก์นั้นก่อน เราเพียงแต่ยึดหลัก “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” เหมือนที่บรรดานักธุรกิจเขาทำกัน แต่วิธีนี้เราต้องหนักแน่นไม่หวั่นไหวครับ HR ต้องช่วยแนะนำกลยุทธ์ในการรับมือการทวงหนี้มหาโหดให้กับพนักงาน ที่จะติดตามทวงทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน ส่งจดหมาย ทำเอกสารเลียนแบบกรมบังคับคดีหรือหมายศาล โทรศัพท์ไปประจาน ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย เราสามารถแจ้งความดำเนินคดีอาญากับผู้ติดตามทวงหนี้แบบผิดกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็นขู่กรรโชกทรัพย์ จงใจประจานทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง บุกรุก เราไม่ต้องไปสนใจเรื่องโทรศัพท์ ถ้ามาดีก็คุยสายด้วย ถ้าพูดไม่ดีก็ไม่ต้องรับสาย เราอดทนรอหมายศาลแล้วไปเจรจาที่ชั้นศาล ส่วนใหญ่แบงก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่า ๑๘% ซึ่งขัดกับพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.๒๕๒๓ โดยเฉพาะนอน-แบงก์ที่คิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง ๒๘% ยังไม่รวมเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมอื่นๆอีก พอขึ้นศาลท่านผู้พิพากษาส่วนใหญ่จะปรับลดดอกเบี้ยลงเหลือประมาณ ๑๕% หลังจากศาลพิจารณาคดีแบงก์ก็จะอายัดทรัพย์สินซึ่งใช้เวลาประมาณ ๓ เดือน ถ้าพนักงานของท่านไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินตามกฎหมาย แบงก์ก็อายัดทรัพย์สินไม่ได้ ทรัพย์สินบางรายการกฎหมายก็คุ้มครองห้ามอายัด ถ้าชำระหนี้ไม่ได้ตามคำสั่งศาลและทรัพย์สินก็ไม่มีให้อายัดกรมบังคับคดีก็จะสั่งอายัดเงินเดือน ซึ่งขั้นนี้หลายคนขยาดกลัว แต่จริงๆแล้วเป็นการช่วยให้ลูกหนี้อยู่ได้ เพราะกฎหมายให้เจ้าหนี้อายัดเงินเดือนได้ทีละราย และอายัดได้ ๓๐% (ซึ่งท่านสามารถทำเรื่องขอลดหย่อนการอายัดเงินเดือนได้ที่กรมบังคับคดี) พนักงานของท่านก็จะมีเงินไว้เลี้ยงครอบครัวอีก ๗๐% เช่น อายัด ๓๐% เท่ากับ ๕,๐๐๐ บาท แต่พนักงานเงินเดือน ๑๐,๕๐๐ บาท ก็อายัดได้แค่ ๕๐๐ บาท และถ้าเงินเดือนไม่ถึง ๑๐,๐๐๐ บาท ก็อายัดไม่ได้ครับ ซึ่งการบังคับคดีมีความเป็นธรรมมากกว่าการถูกทวงหนี้ แนวคิดนี้เป็นการคิดนอกกรอบบ้างไม่ยึดติดแนวคิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ HR บางท่านอาจรับไม่ได้กับแนวคิดนี้เลยก็ได้ และท่านจะทำได้หรือไม่? ท่านต้องกล้าเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของท่านเอง ถ้าท่านอ่านบทความนี้จบลงแล้ว แต่ท่านไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่สร้างเวทีงานเชิงรุกให้กับท่าน ผลมันก็เหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เคยได้ยินพระอาจารย์ท่านหนึ่งเทศน์สั่งสอนว่า “การทำบุญทำทานที่ยิ่งใหญ่ไม่ใช่การสร้างวัดสร้างโบสถ์ การทำบุญที่ยิ่งใหญ่คือการให้ชีวิตคน”
|